รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภา ในหัวข้อ OPEN Parliament Hackathon 2024
วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องโถง ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภา ในหัวข้อ OPEN Parliament Hackathon 2024 โดยมี ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา บุคลากรทั้งสองสำนักงานฯ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการมากกว่า 300 คน
ทั้งนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมโครงการฯโดยสิ่งที่เราจะทำในวันนี้จะมีคุณูปการใหญ่หลวง ไม่ใช่เพียงต่อรัฐสภาเท่านั้นแต่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ เรามีความใฝ่ฝันร่วมกันว่าต้องการเห็นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นที่น่าภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชน และความภาคภูมิใจนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราแต่งตัวอย่างไร เราเข้ามาทำหน้าที่แล้วเป็นอย่างไร แต่ความภาคภูมิใจคือเมื่อประชาชนมองเข้ามาแล้วเห็นรัฐสภาที่โปร่งใสเพราะนี่คือภาษีของประชาชน และภารกิจของสภาฯ นั้นมีความยากลำบากที่จะต้องทำ 4 ภารกิจให้สำเร็จ
ภารกิจที่ 1 ต้องการ สส. ที่มีคุณภาพและข้อมูลที่มีคุณภาพเพื่อจะสามารถพิจารณากฎหมายได้ แปรญัตติได้ เรียบเรียงกฎหมายทั้งในอดีต ปัจจุบัน และคาดเดาอนาคตได้ เทียบเคียงกับต่างประเทศได้ นี่คือพลังของเทคโนโลยี
ภารกิจที่ 2 การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ในทุก ๆ ปี ซึ่งทุกปี สส. จะได้รับข้อมูลงบประมาณเป็นรูปเล่ม มีเวลา 7 วัน และเริ่มพิจารณา จึงคิดว่าประสิทธิภาพในการพิจารณางบประมาณของประเทศควรจะดีกว่านี้ เพราะเป็นงบประมาณที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน
ภารกิจที่ 3 การติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐบาล ต้องการการตรวจสอบที่มีศักยภาพ และ Real Time ทำให้เราสามารถอภิปรายและติดตามได้เพื่อไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงโรงละครที่มาพูดจากันไปเรื่อย ๆ แต่ไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการบริหาร
ภารกิจสุดท้ายคือ การเป็นตัวแทนประชาชน โดยสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นที่ทำงานของผู้ที่ทุกคนเลือกมาแค่ 4 ปีครั้ง แต่ต้องการให้เป็นที่ของประชาชนทุกคนที่จะเข้ามาในสภาฯ และรู้สึกว่านี่คือที่ของพวกเรา หากทุกคนเป็นเจ้าของข้อมูลก็จะรู้สึกว่านี่คือสภาฯ ของพวกเรา ซึ่งในวันนี้นอกจากเราจะเปิดข้อมูลให้ทุกคนรับทราบแล้ว เราจะเปิดโครงการต่าง ๆ ของสภาฯ ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2568 - 2570 ว่ามีโครงการอะไรบ้างที่เราต้องการ โดยได้กล่าวถึงโครงการที่คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่าไม่สมเหตุสมผลและมีมติยกเลิกซึ่งอยู่ในงบประมาณรายจ่ายปี 2566 อาทิ โครงการจัดทำระบบประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสภาผู้แทนราษฎรวงเงินประมาณ 96 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับห้องปฏิบัติงานของ สส. วงเงินประมาณ 98 ล้านบาท และโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันระบบการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอและการลงมติให้คะแนนแบบออนไลน์ วงเงินประมาณ 65 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนนำเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ และมีโอกาสที่จะได้งานที่สภาฯ เพราะเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่นโยบายที่เรียกว่า Thai First Policy เราต้องการเห็นงบประมาณกว่าพันล้านบาทตกมาอยู่ในมือของบริษัทไทย และคิดว่าทุกคนก็มีโอกาสได้ จึงขอให้เป็นก้าวแรกของทุกคนในการเข้ามารู้จักรัฐสภาและเสนอตัวเองต่อรัฐสภาเพราะเชื่อว่างบประมาณเหล่านี้หากบริษัทเล็ก ๆ ได้ไปก็จะชุบชีวิต Startup ไทยได้ และต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกกระทรวงและทุกกรม โดยเริ่มต้นที่รัฐสภาแห่งนี้
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวานนี้ (5 ส.ค. 67) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การสนับสนุนบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและการใช้จ่ายงบประมาณที่สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลเปรียบเทียบ เพื่อให้ สส.คณะ กมธ. และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของทุกส่วนราชการ รวมทั้งสะท้อนปัญหาและแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ
ทั้งนี้ ขอขอบคุณผู้ร่วมจัดโครงการในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล NECTEC Startup ไทย และขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้ การที่ทุกคนตัดสินใจเข้ามาร่วมโครงการในวันนี้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้ว และขอให้ทุกคนสนุกกับการเข้าร่วมโครงการซึ่งจะมีการระดมความคิด เพื่อออกแบบแพลตฟอร์มด้านข้อมูลเปิดของรัฐสภาโดยใช้เทคโนโลยีในยุคปัญญาประดิษฐ์ และตนมีความตื่นเต้นมากในสิ่งที่ทุกคนจะนำเสนอในวันพรุ่งนี้
จากนั้น นายสยาม หัตถสงเคราะห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำเสนอการศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ต่อจากนั้น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐสภา และนายธีระชาติ ก่อตระกูล กรรมการฯ ร่วมเสวนาในหัวข้อ Exclusive Talk : มุมมองการเปลี่ยนประเทศจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของรัฐสภาโครงการดังกล่าวจัดโดยสำนักสารสนเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ และส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการนิติบัญญัติ และภารกิจหลักของรัฐสภา และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้มาพัฒนาการปฏิบัติงานในกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม และระดมความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภาโดยใช้เทคโนโลยีในยุคปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้จัดกิจกรรมสัมมนาระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภา โดยใช้เทคโนโลยีในยุคปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้หัวข้อ OPEN Parliament Hackathon 2024 โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AiAT) รวมทั้งกิจกรรมกลุ่มระดมความคิดเพื่อออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภาโดยใช้เทคโนโลยีในยุคปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้หัวข้อ OPEN Parliament Hackathon 2024 โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AiAT) ซึ่งจัดโครงการฯ ระหว่างวันที่ 6 - 7 ส.ค. 67
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนรัฐสภาให้เป็นองค์กรนิติบัญญัติที่ทันสมัย โปร่งใส เข้าถึงประชาชน ก้าวสู่การเป็น SMART Parliament ตามวิสัยทัศน์ของแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็น SMART Parliament สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาที่ 1 คือ พัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่การเป็น Digital Parliament และประเด็นที่ 4 สร้างระบบนิเวศในการทำงาน (Ecosystem) ให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ภาครัฐที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตอบสนองความต้องการและให้บริการอย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส หน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่มีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ให้การบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่นให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชน และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ภาครัฐมีความทันสมัย ทันการเปลี่ยนแปลงและมีขีดสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เทียบได้กับมาตรฐานสากล สามารถรองรับกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่มีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น และทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชนรัฐสภาส่งเสริมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้ เพื่อสนับสนุนภารกิจหลักของหน่วยงาน ทั้งในส่วนการกระบวนการตรากฎหมาย กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน การติดตามกระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงเห็นความจำเป็นในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการนิติบัญญัติและระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภา อันจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎหมาย กระบวนการด้านนิติบัญญัติได้สะดวก และทั่วถึง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี อีกทั้งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภาโดยใช้เทคโนโลยีในยุคปัญญาประดิษฐ์