ประธานคณะ กมธ. การพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเรื่อง "คิดมุมกลับ ปรับวิธีคิด การลงโทษปรับของประเทศไทย"
วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 08.45 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 607 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเรื่อง "คิดมุมกลับ ปรับวิธีคิด การลงโทษปรับของประเทศไทย" โดยมี ผู้แทนเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ และนักวิจัย ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ร่วมสัมมนา
จากนั้น เป็นการสัมมนา เรื่อง "ปรับแนวคิดพลิกวิธีคิดเกี่ยวกับการลงโทษปรับของประเทศไทย" โดยมี นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายธนินทร์ เพชรศิริ และ น.ส.ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางพิมพ์ประภา วัชรจิตต์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ น.ส.เขมภัทร ทฤษฎิคุณ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ คณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะดำเนินการขับเคลื่อนให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนให้ประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกำหนดกฎหมายและระเบียบที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เนื่องจากการลงโทษเป็นกระบวนการที่รัฐนำมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องปรามและตอบแทนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่ได้ทำให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งวิธีการลงโทษอาจทำได้หลายลักษณะ การลงโทษทางอาญามีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิต จำคุก ปรับ กักขัง และริบทรัพย์สิน และเมื่อมีการนำโทษทางอาญามาใช้มากขึ้นจนกลายเป็นสภาวะกฎหมายอาญาเฟ้อ รัฐได้เริ่มมีนโยบายนำโทษในลักษณะอื่นมาทดแทนโทษทางอาญา อาทิ โทษปรับทางปกครองหรือมาตรการลงโทษทางแพ่ง (ปรับเงิน) สภาพดังกล่าวสะท้อนบทบาทของการปรับ ในฐานะมาตรการลงโทษสำคัญของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยใช้โทษปรับโดยการกำหนดอัตราโทษปรับเป็นจำนวนแน่นอนไว้ในบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งจากการพิจารณาศึกษาและทบทวนวรรณกรรม พบว่าโทษปรับในระบบกฎหมายไทยยังมีเงื่อนไขและอุปสรรคในเรื่องประสิทธิภาพการปรับ เนื่องจากโทษปรับที่กำหนดไว้ในกฎหมายมีความลักลั่นไม่เท่ากัน อันสร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกลงโทษ เนื่องจากการลงโทษปรับไม่ได้คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ทำความผิดมาประกอบ ทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากการลงโทษมากกว่าผู้มีรายได้สูง ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูประบบค่าปรับในกฎหมายไทยจึงเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าว ดังนั้น คณะ กมธ. จึงได้จัดโครงการสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริง ปัญหา และอุปสรรคของการลงโทษปรับของประเทศไทยที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขการลงโทษปรับของประเทศไทยอันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำจากการถูกลงโทษ