ประธานคณะ กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะ แถลงข่าว กมธ. ติดตามสถานการณ์ และพยายามหาแนวทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกรณีการเกิดอุทกภัยอย่างหนักที่ จ.เชียงราย
วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2567 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ประธานคณะ กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะ แถลงข่าว กมธ. ติดตามสถานการณ์ และพยายามหาแนวทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกรณีการเกิดอุทกภัยอย่างหนักที่ จ.เชียงราย ขณะนี้ กมธ. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดทำระบบเตือนภัยแห่งชาติผ่านเทคโนโลยีด้านสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อช่วยลดความเสียหายจากภัยต่าง ๆ
คณะ กมธ.ได้ติดตามสถานการณ์ และพยายามหาแนวทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนมาโดยตลอดมา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม อาทิ กสทช. และโอเปอร์เรเตอร์ทุกหน่วยงานกำลังให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มความสามารถ โดยได้เร่งดูแลเครือข่ายการสื่อสารให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง จัดรถโมบายเคลื่อนที่ในการกระจายสัญญาณเพื่อให้ประชาชนไม่ขาดการติดต่อ ให้ความช่วยเหลือด้านค่าบริการ เช่น กรณีประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน ให้ขยายวันใช้งานเพิ่ม 7 วัน และระงับการตัดสัญญาณ กรณีที่เป็นลูกค้ารายเดือน ให้ขยายระยะเวลาชำระค่าบริการเพิ่มขึ้น และระงับการตัดสัญญาณ นอกจากนี้ ได้จัดหาสิ่งของที่จำเป็น เช่น ถุงยังชีพ และน้ำดื่มบรรจุขวด เพื่อแจกจ่ายประชาชนด้วย ทั้งนี้ คณะ กมธ. ขอส่งกำลังใจให้พี่น้องที่กำลังประสบอุทกภัยในขณะนี้ และคณะ กมธ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการติดต่อประสานงานเพื่อขอรับการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยทุกคน และขณะนี้ คณะ กมธ. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดทำระบบเตือนภัยแห่งชาติผ่านเทคโนโลยีด้านสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งหากดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าระบบเตือนภัยดังกล่าวจะสามารถช่วยลดความเสียหายจากภัยต่าง ๆ ได้ไม่มากก็น้อย
ด้าน น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เลขานุการคณะ กมธ. ในฐานะ สส.จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็น สส. ในพื้นที่ ได้กล่าวถึงปัญหาในพื้นที่ว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน อ.แม่สาย ท้องฟ้ามืดครึ้มและมีฝนตกเป็นระยะ ๆ รวมทั้งน้ำจากแม่น้ำกกก็เพิ่มสูงขึ้น ส่วนสนามบินน่าจะถูกตัดไฟไปเรียบร้อยแล้วเพื่อความปลอดภัยจึงไม่สามารถให้บริการได้ สำหรับศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยซึ่งเป็นของสโมสรฟุตบอลเชียงรายยูไนเต็ดที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าสนามบินก็ถูกน้ำท่วมแล้ว จึงได้มีการอพยพประชาชนขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 ส่วนเรื่องของการสื่อสารนั้น ขณะนี้ทาง โอเปอร์เรเตอร์แต่ละค่าย รวมถึง กสทช. ได้เตรียมรถเคลื่อนที่เร็ว โดยขณะนี้ กฟผ. ได้เริ่มตัดไฟในบางพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงเพราะเสาสัญญาณต้องใช้ไฟฟ้า ดังนั้น จึงต้องใช้แบตสำรอง และแต่ละเครือข่ายก็มีเรือเร็วที่จะเข้าถึงเสาสัญญาณได้อย่างรวดเร็วหากแบตสำรองหมด จึงขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ว่า เสาสัญญาณหรือโทรศัพท์มือถือจะสามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างแน่นอน และขณะนี้ในพื้นที่อุทกภัยได้มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามาให้ความช่วยเหลือและเร่งอพยพประชาชนที่ติดค้างอยู่เป็นจำนวนมากให้เข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิง และจะได้มีการเยียวยาประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนชาวเชียงรายมั่นใจว่า สส. ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจและมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง