ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองหัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัย เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
20 พฤศจิกายน 2567
วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นางสาวเอเดรียนา บลังโก มาร์กิโซ (Ms. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัย (The Convention Secretariat of the World Health Organization Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC) โดยมี นายทศพร ทองศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย รองศาสตราจารย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นายดำรง พุฒตาล ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (กิตติมศักดิ์) นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และนางจงเดือน สุทธิรัตน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การรับรอง
ประธานรัฐสภา กล่าวต้อนรับด้วยความความยินดีและกล่าวว่าประเทศไทยมีกฎหมายและมาตรการควบคุมยาสูบที่ได้ผล แต่ยังต้องดำเนินการรักษากฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป สำหรับคณะกรรมาธิการฯ นี้ ตั้งขึ้นมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามสัดส่วนของพรรคการเมืองต่าง ๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษากฎหมายและการควบคุมยาสูบ รวมถึงศึกษาข้อดี ข้อเสียของการควบคุมการนำเข้าและการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาและลงมติ และส่งให้รัฐบาลเพื่อนำไปบังคับใช้ต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก สำหรับประเด็นที่มีข้อร้องเรียนว่า มีบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับอุตสาหกรรมยาสูบมาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมาธิการฯ นั้น รัฐสภามีประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากพบการกระทำผิดจะต้องถูกลงโทษตามประมวลจริยธรรมฯ ดังกล่าว
หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก กล่าวขอบคุณที่ให้การต้อนรับและกล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่มาประเทศไทยครั้งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีเครือข่ายที่ลงสัตยาบันตามกรอบอนุสัญญาฯ ไว้แล้ว เมื่อปี 2547 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยับยั้งการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐบาลจากอุตสาหกรรมยาสูบ เนื่องจากอุตสาหกรรมยาสูบมุ่งหวังเพียงผลกำไร โดยละเลยต่อความเสียหายด้านสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ามาตีตลาดในปัจจุบันก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่ต่างจากบุหรี่แบบมวน อีกทั้งยังเสพติดง่ายและเลิกยากกว่าบุหรี่แบบมวนหลายเท่า พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
ด้านนายทศพร ทองศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวถึงการสรุปผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่ศึกษาออกมาเป็น 3 แนวทาง คือ 1) บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย 2) ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย และ 3) บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย เพื่อใช้กำหนดเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครดิตข่าว : กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เครดิตภาพ : กลุ่มงานสื่อมวลชน สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร